“พระสมเด็จวัดเกศไชโยพิมพ์เจ็ดชั้นอกตลอด” ก็เป็น “พระสมเด็จ” อีกพิมพ์ที่สร้างด้วย เนื้อผงผสมปูนขาว และมี “กรอบกระจก” เป็นเอกลักษณ์ที่ “สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี” สร้างขึ้น ณ วัดระฆัง จำนวนมากถึง ๘๔,๐๐๐องค์ เพื่อนำไปบรรจุไว้ในองค์ “พระมหาพุทธพิมพ์” หรือที่ชาวบ้านใน ตำบลไชโย จังหวัดอ่างทอง เรียกว่า “หลวงพ่อโต” เนื่องจากในช่วงปลายรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ (ประมาณ พ.ศ.๒๔๐๐-๒๔๐๕) “สมเด็จโต” ได้ไปทำการก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึง โยมมารดา ของท่านที่ล่วงลับไปแล้วและเป็น “พุทธบูชา” พร้อมสืบทอดอายุ “พระพุทธศาสนา”
เนื่องจากโยมมารดาเคยพาท่านมาพำนักอยู่ ณ ตำบลไชโย แห่งนี้เมื่อสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กและได้มาเริ่มนั่ง ณ ตำบลไชโย ส่วนการก่อสร้างใช้วิธีก่ออิฐถือปูนที่มีความใหญ่โตมากชาวบ้านจึงเรียก “หลวงพ่อโต” ไปตามขนาดขององค์พระซึ่งต่อมาอีกประมาณสิบปี “หลวงพ่อโต” ได้พังทะลายลงจึงพบว่าภายในองค์หลวงพ่อโตมี “พระสมเด็จวัดเกศไชโย” บรรจุอยู่และในจำนวน ๘๔,๐๐๐องค์ นั้นมี “พิมพ์หกชั้นอกตลอด” นี้รวมอยู่ด้วยจึงทำให้นักสะสมพระเครื่องในยุคต่อมาให้ความนิยมรองลงมาจาก “พิมพ์เจ็ดชั้น” และ “พิมพ์หกชั้นอกตัน” ที่ปัจจุบันในองค์ที่สวยและสมบูรณ์ไม่หักไม่อุดและไม่ซ่อม วงการนักสะสมจะเช่าหาในราคานับแสนและมีทีท่าจะสูงขึ้นอีก เพราะองค์ที่สวยและสมบูรณ์นั้นผู้ที่มีวาสนาได้ครอบครอง ล้วนมีความหวงแหนจึงทำให้หายากขึ้นส่วนจุดสังเกตมีดังนี้
๑.“เส้นกรอบกระจก” มุมบนด้านซ้ายองค์พระมีเส้นแหลมยื่นออกนอกกรอบกระจก ในแนวเฉียงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทุกองค์ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของพระพิมพ์นี้ส่วน “เส้นซุ้มครอบแก้ว” ด้านบนโค้งมนได้รูปสวยงามเฉกเช่นพิมพ์อื่นๆ ทุกประการ
๒.“พระเกศ” (ผม) เป็นเส้นเล็กมีทั้งเป็นเส้นตรงและเอียงขึ้นไปจรดเส้นซุ้มครอบแก้ว “พระพักตร์” (หน้า) ลักษณะรูปไข่ค่อนข้างเล็กส่วน “พระกรรณ” (หู) ลักษณะเป็นเส้นแฉกที่ยื่นออกจาก “พระปราง” (แก้ม) ทั้งสองข้างในแนวเฉียงโดย “พระกรรณ” ด้านล่างซ้ายองค์พระจะต่ำกว่าด้านขวาเล็กน้อยและมี “เส้นขีด” ในแนวขวางตรงโคนพระกรรณด้านล่างขวาองค์พระ
๓.“พระศอ” (คอ) ลักษณะใหญ่กว่าพระเกศเท่านตัวซึ่งผิดกับ “พิมพ์หกชั้นอกตัน” ที่พระศอจะเล็กกว่าพระเกศขณะที่ “พระอังสา” (ไหล่) เป็นเส้นตรงส่วน “พระอุระ” (อก) ลักษณะเป็นเส้นคู่ตั้งแต่เส้นพระอังสาจึงทำให้เกิดเป็นร่องลงไปถึง “พระอุทร” (ท้อง) จึงเป็นที่มาของคำว่า “พิมพ์อกตลอด”
๔.“พระพาหา” (แขนตั้งแต่ไหล่ถึงข้อศอก) ลักษณะกางออกแล้วหักมุนตรง “พระกัปปะระ” (ศอก) เพื่อประ สานกันส่วน “พระเพลา” ลักษณะคล้าย “พิมพ์หกชั้นอกตัน” เพียงแต่บริเวณด้านล่าง “พระหัตถ์” (มือ) ที่ประสานกันในท่าสมาธิราบจะมีตุ่มนูนเล็กน้อย
๕.“ฐาน” มีหกชั้นโดยชั้นที่หนึ่ง (ล่างสุด) ยาวกว่าทุกชั้นลักษณะเป็นเส้นอวบตรงกลางแล้วเรียวเล็กลง จึงทำให้ปลายฐานทั้งสองข้างมีลักษณะแหลมอ่อนพริ้ว
พุทธธัสสะ
|