เป็นอีก “พระสมเด็จรูปทรงชิ้นฟัก” (สี่เหลี่ยมผืนผ้า) ที่สร้างด้วยเนื้อ “ผงวิเศษ” โดย “เสมียนตราด้วง” ผู้เป็น ต้นตระกูล “ธนโกเศศ” จัดสร้างขึ้นเมื่อครั้งบูรณปฏิสังขรณ์ “วัดบางขุนพรหม” ที่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดใหม่อมตรส” พร้อมอาราธนา “สมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆัง” ซึ่งมีความคุ้นเคยกันเป็นประธานทั้งการจัดสร้างและพุทธาภิเษก ณ วัดบางขุนพรหม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ โดยพิมพ์ที่จะนำมาชี้จุดสังเกตนี้เป็น “พิมพ์ฐานแซม” ที่นำแบบพิมพ์ของ “วัดระฆัง” มาเป็น “แม่แบบ” เช่นกันความงดงามและอลังการจึงไม่ได้ยิ่งหย่อนกว่ากันมากนัก
เพียงแต่ในส่วนของ “วัดบางขุนพรหม” นี้มีการแบ่งแยก “แม่พิมพ์” ออกเป็น “๓ แม่พิมพ์” คือ “พิมพ์พระอุระตัน-พระพักตร์ใหญ่” (อกตัน-หน้าใหญ่) และ “พิมพ์พระอุระตัน-พระพักตร์เล็ก” (อกตัน-หน้าเล็ก) พร้อม “พิมพ์พระอุระร่อง” (อกร่อง) และจากชื่อพิมพ์นี้เองบรรดาเซียนจึงนำมาสนทนากันสนุก ๆ ว่าการจะหาพระสมเด็จ “ของแท้” มาบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้วก็จะต้องหาพระสมเด็จที่มีลักษณะของคำว่า “อกร่อง หูยาน ฐานแซม” จึงจะเข้าตำราไปโน่นเลยดังนั้นวันนี้ผู้เขียนจึงนำ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์ฐานแซม พระอุระตัน-พระพักตร์ใหญ่” (อกตัน-หน้าใหญ่) มาชี้จุดสังเกตเป็นประเดิมก่อนเลยดังมีรายละเอียดดังนี้
๑. “ขอบข้าง” ทั้งสี่ด้านในองค์ที่พิมพ์ติดคมชัดจะปรากฏเส้นนูนเรียวเล็กอย่างชัดเจนส่วน “เส้นซุ้มครอบแก้ว” มีลักษณะคล้ายหวายผ่าซีกที่ค่อนข้างหนาใหญ่ “พระเกศ” (ผม) ลักษณะเป็นเส้นตรงเรียวยาวไปจรดเส้นซุ้ม
๒. “พระพักตร์” (หน้า) ลักษณะคล้ายผลมะตูมที่ค่อนข้างใหญ่และนูนสูงเด่นเช่นกันกับ “พระกรรณ” (หู) ที่มีลักษณะยาวใหญ่นูนเด่นจรด “พระอังสา” (ไหล่) ทั้งสองข้างโดยด้านซ้ายจะยาวกว่าด้านขวาเล็กน้อย
๓. “พระอุระ” (อก) ด้านบนลักษณะเป็นปื้นจึงเรียกว่า “พระอุระตัน” (อกตัน) ส่วน “พระอุทร” (ท้อง) ปรากฏร่องยาวและตื้นจึงทำให้ “ลำพระองค์” (ลำตัว) มีลักษณะยาวชะลูด
๔. “พระกร” (แขน) ทั้งสองข้างทิ้งดิ่งลงไปประสานกันบน “พระเพลา” (ตัก) จึงทำให้ “พระกัปปะระ” (ศอก) มีลักษณะของการ “หักพระกัปปะระ” (หักศอก) เป็นมุมฉากโดยด้านขวาจะกางออกมากกว่าด้านซ้ายเล็กน้อย
๕. “พระเพลา” (ตัก) เป็นเส้นนูนหนาในท่านั่งสมาธิราบบน “ฐาน” ที่มี ๓ ชั้นโดย “ฐานชั้นบน” ลักษณะเป็นเส้นตรงและเล็กกว่าฐานชั้นอื่น ๆ และปลายฐานด้านซ้ายมีลักษณะคล้ายหัวเรือส่วนทางด้าน “ฐานชั้นที่สอง” ลักษณะเป็นเส้นตรงและหนากว่าฐานชั้นบนอีกทั้งปลายฐานลักษณะเป็นแบบฐานสิงห์ส่วน “ฐานชั้นล่าง” เป็นแท่งใหญ่หนาตันและตรงช่องว่างระหว่าง “พระเพลา” (ตัก) กับ “ฐานชั้นบน” และระหว่าง “ฐานชั้นบน” กับ “ฐานชั้นที่สอง” จะปรากฏมี “เส้นแซม” คั่นไว้จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ “ฐานแซม”.
'พุทธธัสสะ'
|