สำหรับ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์เส้นด้ายแขนกลม” ก็เป็นอีกพิมพ์ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองที่หากพิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่าพิมพ์นี้มีความแปลกตาไปอีกแบบตรงที่ “พระเกศ” (ผม) มีลักษณะเป็นเส้นยาวและใหญ่หนากว่าพิมพ์อื่น ๆ จึงส่งผลให้ “พระพักตร์” (หน้า) มี ลักษณะที่เล็กลงรวม ทั้ง “ลำพระองค์” (ลำตัว) ที่นายช่างผู้สร้างสรรค์แม่พิมพ์จะออกแบบให้มีลักษณะเป็น “ทรงกระบอก” ทางด้าน “พระกร” (แขน) ก็ทำการสร้างแม่พิมพ์ให้มีลักษณะเป็นเส้นเล็กเรียวยาววาดโค้งไปประสานกันบน “พระเพลา” (ตัก) ในลักษณะที่แทบจะเป็น “วงกลม” ด้วยเหตุนี้นักสะสมจึงใช้เป็นชื่อของพิมพ์นี้ว่า “แขน กลม”
นอกจากนี้ในส่วนของ “ฐานพระ” ทั้ง ๓ ชั้นนายช่างผู้แกะแม่พิมพ์ก็ทำการแกะพิมพ์ให้มีลักษณะเป็น “เส้นตรงเรียวบางยาว” วิ่งขนานกันทั้งสามชั้นและในส่วนของฐานชั้นล่างสุดจะมีลักษณะเป็น “เส้นคู่” ที่ดูแล้วคลาสสิกดีไปอีกแบบส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ของพิมพ์นี้ นอกจากมีความคมชัดและลึกแล้วลักษณะขององค์พระก็ตั้งตรง ไม่เอนเอียงหรือโย้ ไปทางใดทางหนึ่งเสริมให้องค์พระมีความงามอลังการไปอีกแบบที่พอจะแยกแยะจุดสังเกตได้ดังนี้
๑. “เส้นขอบข้าง” ทั้งสี่ด้านในองค์ที่สวยสมบูรณ์และผ่านการสัมผัสน้อย จะสังเกตเห็นเป็นเส้นนูนเฉกเช่น “พระสมเด็จวัดระฆัง” ที่ผู้รู้ระบุว่าเป็นผลพวงที่เกิดจากการถอดองค์พระออกจากแม่พิมพ์ ในขณะที่เนื้อพระยังไม่แข็งตัวจึงทำให้เกิดเป็นเนื้อปลิ้นออกมา
๒. “เส้นซุ้ม” มีลักษณะเป็นเส้นครอบแก้วที่เล็กเรียวบางคล้ายเส้นด้าย และไม่โย้ไปทางใดทางหนึ่ง
๓. “พระเกศ” (ผม) ที่วิ่งไปจรดเส้นซุ้มนั้นเป็นเส้นหนาใหญ่และยาวแอ่นโค้งตรงกลางเล็กน้อย
๔. “พระพักตร์” (หน้า) ลักษณะคล้ายผลมะตูมและเล็กกว่าพิมพ์อื่น ๆ ไม่ปรากฏ “พระกรรณ” (หู) ส่วน “พระอุระ” (อก) ที่ต่อเนื่องกับ “ลำพระองค์” (ลำตัว) มีลักษณะค่อนข้างเล็กแต่นูนเด่นและเป็นรูปทรงกระบอก
๕. “พระกร” (แขน) เป็นเส้นเรียวเล็กบางยาวเริ่มจากแนว “พระอังสา” (ไหล่) ทั้งสองด้านที่ค่อนข้างแคบเนื่องจากการสร้างแม่พิมพ์ สร้างแบบวาดเป็น เส้นโค้งลงไปประสานกันบน “พระเพลา” (ตัก) ทำให้มีลักษณะคล้ายวงกลมที่ดูแล้วก็งามไปอีกแบบโดยซอก “พระกัจฉะ” (รักแร้) ด้านซ้ายจะลึกกว่าด้านขวาเล็กน้อย
๖. “พระเพลา” (ตัก) ลักษณะเป็นเส้นเรียวบาง (แต่หนากว่าเส้นฐานเล็กน้อย) ขนานกับฐานชั้นบนโดย “พระชานุ” (เข่า) ด้านซ้ายจะมีเนื้อนูนที่สูงกว่าด้านขวา
๗. “ฐานทั้ง ๓ ชั้น” มีลักษณะเป็นเส้นเรียว บางยาวและคมลึกวิ่งขนานกันและ “หัวฐานชั้นกลาง” ไม่เป็น “หัวสิงห์” เหมือนพิมพ์อื่น ๆ ส่วนฐานชั้นล่างเป็น เส้นคู่.
พุทธธัสะ
|