พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์อกครุฑ
“พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์อกครุฑ” เป็นอีกหนึ่งใน ๙ พิมพ์มาตรฐาน ของพระสมเด็จแห่งสำนัก “วัดบางขุนพรหม” ที่สร้างขึ้นด้วย “เนื้อผง” และได้รับความนิยมตามแบบฉบับของพระสมเด็จที่มีรูปทรงแบบ “ชิ้นฟัก” ที่จัดสร้างขึ้นโดย “เสมียนตรา
ด้วง” ผู้เป็นต้นตระกูล “ธนโกเศศ” โดยนิมนต์ “สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี” ขณะยังครอง “วัดระฆัง” เป็นประธานทั้งการสร้างและปลุกเสกเพื่อบรรจุไว้ในเจดีย์ “วัดบางขุนพรหม” (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดใหม่อมตรส) ที่ “เสมียนตราด้วง” ทำการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๔-๕ และเป็นอีกพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมที่มีรูปทรงเป็น “เอกลักษณ์” เพราะมีความแตกต่างจากพิมพ์อื่น ๆ อย่างชัดเจนคือมีรูปทรงที่ค่อนข้างล่ำหนาบึกบึนกว่าพิมพ์อื่น ๆ และสามารถแบ่งออกเป็น ๓ แม่พิมพ์ คือ “อกครุฑใหญ่-อกครุฑกลาง-อกครุฑเล็ก”
ฉะนั้นการชี้จุดสังเกต “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์อกครุฑ” ประจำฉบับวันนี้จึงขอนำ “พิมพ์อกครุฑใหญ่” มานำเสนอก่อนเพราะเป็นพิมพ์ที่บรรดานักสะสมให้ค่านิยมสูงกว่านั่นเอง
๑. “ขอบข้าง” ทั้งสี่ด้านยังมีเอกลักษณ์ของพระสมเด็จคือเป็น เส้นนูนเรียวบาง ที่ผู้รู้ระบุว่าเกิดจากการถอดออกจากแม่พิมพ์ ส่วน “เส้นซุ้มครอบแก้ว” มีความแตกต่างจากพิมพ์อื่นคือ มีลักษณะเป็นเส้นเล็กเรียวบาง และเอียงไปทางด้านซ้ายองค์พระ
๒. “พระเกศ” (ผม) เป็นเส้นยาวที่ลักษณะของโคนพระเกศจะอวบหนา ส่วนปลายพระเกศจะเรียวแหลมไปจดเส้นซุ้ม ทางด้าน “พระพักตร์” (หน้า) ลักษณะเป็นรูปทรงกลมใหญ่หนาคล้ายกับบาตรพระ จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อพิมพ์ที่ว่า “อกครุฑเศียรบาตร” นั่นเอง
๓. “พระกรรณ” (หู) ลักษณะคล้ายกับพระกรรณพระพุทธรูปเพราะค่อนข้างชิดกับพระพักตร์ และส่วนปลายของพระกรรณจะเฉียงออกไปทางด้านข้างเล็กน้อย ส่วน “พระอุระ” (อก) นูนหนาบึกบึน ขณะที่ “บั้นพระองค์” (บั้นเอว) เรียวเล็กจึงทำให้มีลักษณะเป็นรูป “ตัววี” ของภาษาอังกฤษ
๔. “เส้นสังฆาฏิ” พาดเฉียงจาก “พระอังสาซ้าย” (บ่าซ้าย) ลงไปถึง “ฝ่าพระหัตถ์” (ฝ่ามือ) และส่วนปลาย ของเส้นสังฆาฏิเป็นเส้นแหลมที่รับกับ “พระอุระ” (อก) จึงทำให้มีลักษณะเหมือน “ปากครุฑ” จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ที่ว่า “อกครุฑ” นั่นเอง
๕. “พระกร” (แขน) ทั้งสองข้างตั้งแต่บริเวณ “พระอังสา” (บ่า) กางออกในลักษณะด้านซ้ายยกสูงกว่าด้านขวา แล้วมีการ “หักพระกัประ” (หักศอก) จึงทำให้ “ซอกพระกัจฉะ” (ซอกรักแร้) ด้านขวามีพื้นที่กว้างกว่าด้านซ้าย ขณะที่ “ฝ่าพระหัตถ์” (ฝ่ามือ) ที่ประสานกันในท่านั่งสมาธิลักษณะเป็นเส้นเล็กเรียวบาง
๖. “พระเพลา” (ตัก) ลักษณะนูนหนาใหญ่ และ “พระชานุ” (เข่า) ทั้งสองข้างยกสูงขึ้น ส่วน “ฐาน” มีสามชั้น และแต่ละชั้นจะเป็นเส้นนูนหนาใหญ่คล้ายไม้หมอนรถไฟ.
|