'พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์สังฆาฏิ
สำหรับ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์สังฆาฏิ” เป็นอีกหนึ่งพระสมเด็จจากสำนัก “วัดบางขุนพรหม” ที่นักสะสมนิยมสะสมกันเพราะถือเป็นพิมพ์ที่มี “เอกลักษณ์” โดดเด่นเฉพาะตัวจากที่เป็นพิมพ์มี “เส้นสังฆาฏิ” เป็นเส้นคู่ขนานปรากฏบน “พระอุระ” (อก) อย่างชัดเจนจึงเป็นที่มาของคำว่า “พิมพ์สังฆาฏิ” ที่มีการแบ่งแยกออกเป็น “๒ พิมพ์” คือ “พิมพ์สังฆาฏิมีพระกรรณ” (มีหู) และ “พิมพ์สังฆาฏิไม่มีพระกรรณ” (ไม่มีหู) ที่วันนี้ผู้เขียนขอนำ “พิมพ์มีพระกรรณ” (มีหู) มาชี้จุดสังเกตก่อนเนื่องจากเป็นพิมพ์ที่นักสะสมให้ความนิยมสะสมมากกว่า “พิมพ์ไม่มีพระกรรณ” (ไม่มีหู) โดยยึดถือหลักตรงองค์พระมี “พระกรรณ” (หู) นั่นเอง
ส่วนการชี้ “จุดสังเกต” ของพิมพ์สังฆาฏิวันนี้ผู้เขียนขอนำ “พิมพ์มีพระกรรณ” (มีหู) มาทำการชี้จุดสังเกตก่อนโดยนำองค์ที่ถือได้ว่ามีความงดงามระดับ “แชมป์” ของวงการเพราะเป็นองค์ที่ไม่ผ่านการใช้มาก่อน และเป็นองค์ที่สภาพมีความสมบูรณ์มากคือ ไม่หัก ไม่อุด และ ไม่ซ่อม เนื่องจากผู้ที่ครอบครองก็คือ “เสี่ยหนึง” ปรีดา อภิปุญญา ซึ่งเป็นนักสะสมไฮโซของวงการที่มีพระตระกูล “สมเด็จ” รูปทรงชิ้นฟักทั้งของสำนัก “วัดระฆัง” และสำนัก “วัดบางขุนพรหม” อยู่ในความครอบครองมากที่สุดอีกผู้หนึ่งนั่นเองส่วน “จุดสังเกต” มีดังต่อไปนี้
๑. “ขอบข้างทั้งสี่ด้าน” จะปรากฏเป็นเส้นนูนเรียวเล็กคล้ายกับเนื้อปลิ้นออกมา ซึ่งผู้รู้ระบุว่าเกิดจากการถอดออกจากแม่พิมพ์นั่นเองส่วน “เส้นซุ้มครอบแก้ว” ลักษณะเป็นเส้นเรียวเล็กที่หากสังเกตจะเห็นได้ว่าเส้นซุ้มทางด้านขวามือองค์พระ มีความหนากว่าด้านซ้ายเล็กน้อย
๒. “พระเกศ” (ผม) ลักษณะเป็นเส้นเรียวบางโดยปลาย “พระเกศ” (ผม) วิ่งทะลุขึ้นไปจดเส้นซุ้มอีกทั้งเส้น “พระเกศ” (ผม) จะมีลักษณะเป็นแบบแอ่นโค้งเล็กน้อยและเป็นแบบเส้นตรงทางด้าน “พระพักตร์” (หน้า) ลักษณะคล้ายผลมะตูมที่ค่อนข้างนูนหนาและปรากฏ “พระกรรณ” (หู) ที่คล้ายกับ “หูบายศรี” ที่อยู่ห่างจากพระพักตร์เล็กน้อยโดย “พระกรรณ” (หู) ด้านซ้ายองค์พระมีขนาดใหญ่กว่าด้านขวาเล็กน้อยเช่นกัน
๓. “พระอุระ” (อก) ลักษณะค่อนข้างอูมเล็กน้อยส่วน “ลำพระองค์” (ลำตัว) เป็นเส้นเรียวบางคมชัดพร้อมปรากฏ “เส้นสังฆาฏิ” อันเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ที่ว่า “พิมพ์สังฆาฏิ” วิ่งขนานกันลงไปยัง “บั้นพระองค์” (เอว) จึงก่อให้เกิดเป็นร่องตรงกลาง
๔. “พระกร” (แขน) ทั้งสองข้างเป็นเส้นเรียวบางกางออกเล็กน้อยก่อนจะไปวางซ้อนกันบน “พระเพลา” (ตัก) และการวางซ้อนกันของพิมพ์นี้จะไม่ต่อเป็นเส้นเดียวกันและ “ซอกพระกร” (ซอกแขน) ด้านซ้ายจะกว้างกว่าด้านขวาเล็กน้อยทางด้าน “พระเพลา” (ตัก) ลักษณะเป็นเส้นยาวแอ่นกลางแต่พองามและหนาใหญ่กว่า “วงพระกร” (วงแขน) เล็กน้อย
๕. “ฐาน” ทั้งสามชั้นลักษณะยาวกว่า “พระเพลา”(ตัก) โดย “ฐานชั้นกลาง” มีลักษณะคล้ายฐานสิงห์ส่วนฐานชั้นล่างสุดเป็นแท่งหนาตรงกลางเป็นร่องเล็กน้อย.
'พุทธธัสสะ'
|