ฉบับวันเสาร์ที่แล้วได้ชี้จุดสังเกต “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์ใหญ่พระกรโค้ง” (แขนโค้ง) ไปแล้ว วันนี้จึงขอข้ามการชี้จุดสังเกต “พิมพ์ใหญ่พระกรกว้าง” (แขนกว้าง) อีกพิมพ์เนื่องจากพุทธลักษณะของ “พิมพ์ใหญ่พระกรกว้าง” นี้ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีพุทธลักษณะที่คล้ายกันกับ “พิมพ์ใหญ่พระกรโค้ง” (แขนโค้ง) จะแตกต่างกันก็ตรงช่วง “พระอังสา” (ไหล่) และ “พระกร” (แขน) เท่านั้น ที่จะกว้างกว่าพิมพ์อื่น ๆ เพราะพิมพ์นี้ “ลำพระกร” (ลำแขน) ทั้งสองข้างจะกางออกมากกว่านั่นเอง นักสะสมจึงเรียกเป็น “พิมพ์ใหญ่แขน กว้าง” ไปตามพุทธลักษณะขององค์พระ
ส่วนที่จะนำมาชี้จุดสังเกตแทนในฉบับนี้คือ “พระสมเด็จวัด บางขุนพรหมพิมพ์ใหญ่พระอุระเล็ก” (อกเล็ก) เนื่องจากพระพิมพ์นี้มีข้อแตกต่างจากพิมพ์อื่น ๆ อยู่หลายจุดโดยองค์ที่นำมาชี้จุดสังเกตนี้ถือได้ว่าเป็นองค์ที่สภาพ “สวยสมบูรณ์มาก” ในขบวน “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์ใหญ่พระอุระเล็ก” เพราะนอกจากผ่านการประกวดโดยติดรางวัล “ชนะเลิศ” มาหลายงานแล้วยังปรากฏภาพตาม “หนังสือพระ” หลายฉบับโดยจุดสังเกตที่พอจะแยกแยะออกเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้
๑. ขอบข้างทั้งสี่ด้าน บน-ข้าง-ล่าง ก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกันกับพิมพ์อื่น ๆ คือ ในองค์ที่ติดชัดและผ่านการสัมผัสน้อย จะเห็นเป็นเส้นนูนเรียวเล็กเฉกเช่น “พระสมเด็จวัดระฆัง” นอกจากนี้ “เส้นซุ้ม” ที่มีรูปทรงครอบแก้วก็จะค่อนข้างใหญ่คล้ายกับหวายผ่าซีกโดย “เส้นโค้งบนสุด” ด้านขวาองค์พระจะตั้งชันกว่าด้านซ้ายซึ่งตรงกันข้ามกับ “พิมพ์ใหญ่พระกรตรงเกศตรง” (แขนตรงเกศตรง) อย่างเห็นได้ชัด
๒. “พระเกศ” (ผม) ก็จะเป็นเส้นเล็กเรียวยาวขึ้นไปจรดเส้นซุ้มและ “พระพักตร์” (หน้า) ก็มีลักษณะคล้ายผลมะตูมโดยไม่ปรากฏ “พระกรรณ” (หู) แต่อย่างใดส่วน “พระอุระ” (อก) มีลักษณะที่เล็กกว่าพิมพ์อื่น ๆ เป็นผลให้การแกะ “แม่พิมพ์” ของนายช่างจึงต้องแกะให้ “ลำพระองค์” (ลำตัว) มีลักษณะที่ผอมลงตามไปด้วย พร้อมกับมีลักษณะคล้ายทรงกระบอก จึงเป็นที่มาของการเรียกว่า “พิมพ์ใหญ่พระอุระเล็ก” (อกเล็ก) นั่นเอง
๓. “วงพระกร” (วงแขน) เนื่องจาก “พระอังสา” (ไหล่) ทั้งสองข้างที่ต่อเนื่องถึง “พระพาหา” (แขน) ทั้งสองข้างจะทิ้งดิ่งในลักษณะ กางออกเล็กน้อยตรงบริเวณ “พระกัป ระ” (ศอก) แล้ว “พระพาหุ” (ปลายแขน) ทั้งสองข้างจะประสานกันเป็นรูป “ตัวยู” อย่างสวยงาม
๔. “พระเพลา” (ตัก) ของพิมพ์นี้ในองค์ที่ติดชัดจะสังเกตได้ตรงที่ “พระชงฆ์” (แข้ง) จะมีลักษณะเป็นเส้นตรงและคมชัด โดย “พระชานุ” (เข่า) ด้านซ้ายจะใหญ่กว่าด้านขวาเนื่องจากมี “เส้นชายจีวร” ที่พาด ลงมาจาก “พระกัประ” (ศอก) อันเป็นสัญลักษณ์ของ “พระ สมเด็จพิมพ์ใหญ่” ทุกสำนัก
๕. ฐานทั้ง ๓ ชั้น ก็จะมีลักษณะคล้ายกันกับพิมพ์ใหญ่อื่น ๆ จึงไม่ขอแยกแยะฐานแต่ละชั้นแตกต่างกันเช่นไร เนื่องจากองค์ที่นำมาชี้จุดสังเกตนี้แม้จะเป็นองค์ที่มีสภาพ“สมบูรณ์มาก” แต่ก็เป็น “พระกรุใหม่” จึงปรากฏคราบกรุตามพื้นผิวองค์พระจึงทำให้ยากต่อการแยกแยะนั่นเอง...
|