“พระสมเด็จอรหังพิมพ์เล็กมีประภามณฑล” เป็นอีกพิมพ์ของ “พระสมเด็จอรหัง” ที่มีขนาดเล็กเท่าเล็บมือแต่ก็ได้รับความนิยมจากนักสะสมไม่แพ้ “พิมพ์ใหญ่” เพราะเป็นผลงานการสร้างสรรค์ขึ้นโดย “สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๔” แห่ง “กรุงรัตนโกสินทร์” ที่ชาวบ้านในยุคนั้น (รัชกาลที่ ๑) เรียกขานท่านว่า “สมเด็จพระสังฆราช สุก ไก่เถื่อน” เนื่องจากท่านมีวิทยาคมด้าน “เมตตามหานิยม” เป็นเอกเพราะสามารถใช้วิทยาคมเรียก “ไก่เถื่อน” (ไก่ป่า) ที่สมัยนั้นมีชุกชุมมากยังแถบ “วัดราชสิทธาราม” หรือ “วัดพลับ” (วัดเดิมที่ท่านจำพรรษาก่อนได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช) ให้เชื่องได้โดยไม่ตื่นกลัวมนุษย์ตามสัญชาตญาณของสัตว์ป่า ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการขนานนามว่า “ไก่เถื่อน”
ส่วนอายุการสร้างพร้อม ทั้งเนื้อหาก็สร้างสรรค์ขึ้นพร้อมกับพิมพ์อื่น ๆ เพียงแต่ขนาดและพิมพ์เท่านั้นที่แตกต่างกันไปที่ในอดีตผู้ที่ได้ครอบครองเป็นผู้ที่วงการยอมรับว่ามีวาสนาเพราะนอกจากสร้างสรรค์ขึ้นโดย “สมเด็จพระสังฆราช” แล้วยังเป็น “พระสมเด็จ” องค์ขนาดเล็กที่ “พบเห็นได้ยาก” ยิ่งปัจจุบันก็ยิ่งแทบ “ไม่มีให้พบเห็น” เป็นผลให้นักสะสมรุ่นใหม่แทบ “ไม่รู้จัก” เนื่องจากผู้ที่มีครอบครองก็มักจะหวงไม่ยอมเปลี่ยนเป็น “สมบัติผลัดกันชม” การหมุนเวียนเพื่อแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายต่อกันจึงไม่ปรากฏ ประกอบกับที่พบเห็นตามสนามพระทั่วไปมักจะเป็น “ของปลอม” ที่พวกไม่หวั่น “บาปกรรม” ตามสนองสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกขายให้กับผู้ไม่ถ่องแท้ ด้วยเหตุนี้ปัจจุบันการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายจึงแทบไม่มีเลย ฉะนั้นจะเสาะหามาบูชาจึงต้องสอบถามผู้รู้ที่ไว้ใจได้จะได้ไม่เสียใจในภายหลัง ส่วนจุดสังเกตของ “พิมพ์เล็กมีประภามณฑล” มีดังนี้
๑. “ขอบข้าง” ทั้งสี่ด้านยังคงมีเอกลักษณ์ของ “พระสมเด็จอรหัง” ทุกประการคือมีเนื้อนูนเป็นเส้นตรงสม่ำเสมอและสวยงามอีกทั้ง “เส้นซุ้มครอบแก้ว” ช่วงเหนือพระเศียรที่เป็นวงโค้งก็จะไม่ “โย้” หรือ “เอียง” ไปข้างใดข้างหนึ่งอย่างพระสมเด็จของสำนัก “วัดระฆัง” และ “วัดบางขุนพรหม”
๒. “ประภามณฑล” (ที่มาของชื่อพิมพ์) ลักษณะคล้ายกับเปลวเพลิงที่พวยพุ่งเป็นเส้นเล็กเรียว และขาดเป็นช่วง ๆ ล้อมรอบ “พระเศียร” (ศีรษะ) ไว้อย่างสวยงาม ส่วน “พระเกศ” (ผม) ลักษณะเป็นเส้นเรียวเล็กพุ่งไปจรดเส้นประภามณฑล
๓. “พระพักตร์” (หน้า) ลักษณะคล้ายรูปไข่ขนาดเล็กและปรากฏเส้น “ลำพระศอ” (ลำคอ) ขนาดเล็กเช่นกันเชื่อมระหว่าง “พระพักตร์” และ “ลำพระองค์” ขณะที่ “พระพาหา” (แขน) ด้านขวาทิ้งดิ่งเป็นเส้นตรงส่วนด้านซ้ายกางออกเล็กน้อย ก่อนวาดโค้งไปประสานกันในท่าสมาธิบน “พระเพลา” (ตัก)
๔. “พระเพลา” (ตัก) ลักษณะคล้ายรูปเรือโดย “พระชานุ” (เข่า) ด้านขวายกสูงกว่าด้านซ้ายเล็กน้อยและปรากฏ “เส้นชายจีวร” ที่เล็กเรียวเชื่อมระหว่าง “พระกรซ้าย” (มือซ้าย) กับ “พระชานุ” (เข่า) ด้านซ้าย
๕. “ฐาน” มีสามชั้นที่ลักษณะคล้ายกับบันไดเพราะฐานชั้นแรกสั้นกว่าฐานชั้นที่สองและสาม ส่วนฐานชั้นที่สองก็จะสั้นกว่าฐานชั้นที่สาม และตรงหัวฐานทุกชั้นทั้งสองด้านจะปรากฏเส้นเชื่อมขนาดเล็ก จึงทำให้ฐานมีลักษณะคล้ายกับบันไดสามชั้น.
พุทธธัสสะ
ที่มา เดลินิวส์
|