ผู้เขียนได้ระบุไว้ฉบับวันเสาร์ที่แล้วว่า “พระสมเด็จอรหัง” ที่รังสรรค์ขึ้นโดย “สมเด็จพระญาณสังวร” ที่ได้รับการขนานพระนามในเวลาต่อมาว่า “สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน” มีทั้งหมด ๖ พิมพ์ และมี ๒ สี คือสี “ขาว” และ “แดง” วันนี้ผู้เขียนจึงนำ “พิมพ์ใหญ่ฐานสามชั้น” มาชี้จุดสังเกตก่อนพิมพ์อื่น ๆ เนื่องจากเป็นพิมพ์ที่ได้รับความ “นิยม” กว่าพิมพ์อื่น ๆ อีกทั้งเป็นพิมพ์ที่มี “เอกลักษณ์” คล้าย “พระสมเด็จวัดระฆัง” ที่รังสรรค์โดย “สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี” คือเป็น “พระเนื้อผงสีขาว” ที่สร้างด้วย “ผงวิเศษ” และมีรูปทรง “สี่เหลี่ยมผืนผ้า” หรือที่นักสะสมยุคเก่าเรียกว่า “ชิ้นฟัก” เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีรูปทรงแบบเดียวกันคือ “พระประธานปางสมาธิ” ประทับนั่งบน “ฐานสามชั้น” ที่มี “ซุ้มครอบแก้ว” อีกทั้งมีทั้ง “ลงกรุ” และ “ไม่ลงกรุ” เช่นกันเพียงแต่รายละเอียดการสร้างสรรค์พิมพ์เท่านั้นที่ไม่เหมือนกันคือ “พระสมเด็จอรหัง” เป็นพระสมเด็จที่สร้างด้วยแม่พิมพ์ที่ไม่มีการตัดขอบเช่น “พระสมเด็จวัดระฆัง” คือขณะทำการกดพิมพ์นายช่างจะใช้แผ่นหินอ่อนปิดไว้ทั้งสี่ด้าน กระทั่งองค์พระเริ่มแห้งจึงถอดแผ่นหินอ่อนออกก็จะได้ “พระสมเด็จอรหัง” ที่ไม่มีการ “ตัดขอบ” อย่าง “พระสมเด็จวัดระฆัง” และก่อนที่ผู้เขียนจะชี้จุดสังเกตขอเรียนว่า “พระสมเด็จอรหังพิมพ์ใหญ่ฐานสามชั้น” นี้มีด้วยกัน ๒ สี คือ “ขาว” และ “แดง” โดย “ด้านหน้า” จะเป็น “พิมพ์เดียวกัน” แต่ “ด้านหลัง” เป็น “คนละพิมพ์” คืออักขระยันต์คำว่า “อรหัง” (ที่มาของชื่อพระ) ที่ประทับไว้ด้านหลังของ “สีขาว” เป็นการจารด้วยมือส่วน “สีแดง” เป็นการปั๊มด้วยแม่พิมพ์จึงสันนิษฐานว่า “สีแดง” สร้างขึ้นภายหลังเพราะนอกจากจะพบขึ้นจากกรุ “วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์” แล้วยังมีการพบขึ้นจากกรุ “วัดสร้อยทอง พระรามหก” อีกด้วยส่วนรายละเอียดของการชี้จุดสังเกตมีดังนี้
๑. “ขอบข้างทั้งสี่ด้าน” มีเนื้อที่นูนหนาและเป็นแนวตรงสวยงามได้สัดส่วนอีกทั้งขอบข้างตรง “มุมองค์พระ” มีลักษณะกลมมนทั้งสี่มุมส่วน “เส้นซุ้มครอบแก้ว” แม้เส้นจะเล็กกว่า “พระสมเด็จวัดระฆัง” แต่แนวที่วาดโค้งตรงด้านบนองค์พระได้สัดส่วนที่สวยงามกว่า
๒. “พระเกศ” (ผม) ลักษณะเป็นเส้นเล็กเรียวบางแต่คมชัดขึ้นไปจดเส้นซุ้มครอบแก้ว “พระพักตร์” (หน้า) มีรูปทรงกลมนูนหนา “พระกรรณ” (หู) ลักษณะเป็นเส้นตรงเล็กเรียวคมชัดด้านขวาจะอยู่ชิดพระพักตร์มากกว่าด้านซ้าย
๓. “พระอังสา” (ไหล่) ด้านขวาหนากว่าด้านซ้าย “พระอุระ” (อก) ลักษณะนูนหนาผึ่งผายและปรากฏ “เส้นสังฆาฏิ” พาดจากพระอังสาด้านซ้ายลงไปถึง “พระอุทร” (ท้อง) และปรากฏ “เส้นอังสะ” วิ่งออกจากเส้นสังฆาฏิไปด้านขวาองค์พระสองเส้น
๔. “พระพาหา” (แขน) ทั้งสองข้างลักษณะเป็นเส้นนูนเรียวยาวด้านขวาเล็กกว่าด้านซ้าย และกางออกแต่พองามก่อนหักมุมตรง “พระกัปปะระ” (ศอก) ในลักษณะรูปโค้งแบบเกือกม้าหรือ “ตัวยู” ในภาษาอังกฤษส่วน “พระเพลา” (ตัก) ลักษณะคล้ายกับเรือแจวโดยปลาย “พระชานุ” (เข่า) ทั้งสองข้างลักษณะแหลมเฉียงขึ้น
๕. “ฐาน” มีสามชั้นเช่นพระสมเด็จทั่วไปและปรากฏ “เส้นเชื่อมฐาน” (ในองค์ที่ติดคมชัด) ที่เรียวเล็กเชื่อมฐานทั้งสามชั้นไว้ด้วยกัน โดยฐานชั้นบนสุดกับฐานชั้นที่สองมีลักษณะคล้ายแท่งสามเหลี่ยม และปลายฐานทั้งสองข้างเป็นแบบฐานสิงห์ ส่วนฐานชั้นล่างสุดเป็นแท่งนูนหนายาวจดเส้นซุ้มครอบแก้ว นอกจากนี้ตรงขอบฐานด้านบนกับด้านล่างมีเนื้อปลิ้นเป็นแนวยาว (ในองค์ที่ติดคมชัด).
..
|