จุดสังเกตของ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์ใหญ่ พระอุระวี” (อกวี) เป็นลำดับ ต่อไปแต่เนื่องจากพระพุทธลักษณะของพิมพ์นี้ส่วนใหญ่แล้วจะคล้ายกับพิมพ์ “พระอุระเล็ก” (อกเล็ก) จะมีจุดสังเกตที่แตกต่างกันอยู่บ้างก็ตรงที่ “พระอุระ” (อก) ของพิมพ์ “อกเล็ก” จะมีลักษณะที่ค่อนข้างเล็กสมชื่อ
ส่วนพิมพ์ “พระอุระวี” (อกวี) รูปทรงขององค์พระตั้งแต่บริเวณ “พระอุระ” (อก) ลงมา ถึง “ลำพระองค์” (ลำตัว) จะมีรูปทรงคล้ายกับ “ตัววี” (อักษรภาษาอังกฤษ) เท่านั้นผู้เขียนจึงขอข้ามมาชี้จุดสังเกตของ “พิมพ์ใหญ่พระพักตร์เล็ก” (หน้าเล็ก) เพราะพระพิมพ์นี้มีจุดสังเกตที่แตกต่างจากพิมพ์อื่น ๆ พอสมควร
๑. “เส้นซุ้มครอบแก้ว” มีลักษณะคล้ายหวายผ่าซีกเช่นกันกับ “พระสมเด็จ” ทุกตระกูลเพียงแต่ เส้นซุ้มของพิมพ์นี้ มีลักษณะเรียวเล็กกว่าพิมพ์ใหญ่ อื่น ๆ อีกทั้งเส้นซุ้มด้านขวาองค์พระก็มีลักษณะที่ชันกว่าด้านซ้าย รวมทั้ง “พระเกศ” (ผม) ก็เรียวเล็ก ส่วนปลายพระเกศเอียงไปทางด้านซ้ายเล็กน้อยจรดเส้นซุ้มครอบแก้ว
๒. “พระพักตร์” (หน้า) คล้ายผลมะตูมและมีลักษณะที่เล็กเรียวยาวกว่าพิมพ์อื่น ๆ ที่มองดูแล้วคล้ายกับส่วนของ “พระหนุแหลม” (คางแหลม) จึงเป็นที่มาของการเรียกพิมพ์นี้ว่า “พระพักตร์เล็ก” (หน้าเล็ก) นั่นเอง
๓. “พระกร” (แขน) มีลักษณะที่เล็กและบอบบางคล้ายกับ “พิมพ์เส้นด้าย” จึงทำให้ “ลำพระองค์” (ลำตัว) มีลักษณะที่ค่อนข้างบอบบางทั้งนี้ก็เพราะนายช่างต้องแกะแม่พิมพ์ให้สมดุลกับส่วนอื่น ๆ นั่นเอง
๔. “วงพระกร” (วงแขน) ของพิมพ์นี้มีลักษณะเป็นวงโค้งกางออกเล็กน้อยโดย “ฝ่าพระหัตถ์” (ฝ่ามือ) ทั้งสองข้างประสานกันเป็นรูปตัวยูที่สวยงามมาก
๕.“พระเพลา” (ตัก) มีลักษณะเป็นเส้นเรียวยาวโดย “พระชานุ” (เข่า) ด้านซ้ายขององค์พระจะใหญ่กว่าด้านขวา อันเกิดจากมีเส้นจีวรพาดลงมาจาก “พระกัปปะระ” (ศอก) ด้านซ้ายนั่นเอง
๖. “ฐานชั้นที่หนึ่ง” มีลักษณะเป็นเส้นเล็กเรียวยาวกว่าพระเพลาเล็กน้อยและ “ฐานชั้นที่สอง” มีลักษณะเป็นเส้นเล็กเรียวยาวเช่นกัน เพียงแต่ปลายทั้งสองข้างจะมีลักษณะเป็นฐานสิงห์ส่วน “ฐานชั้นที่สาม” เป็นแท่งใหญ่ที่ยาวกว่าฐานชั้นที่หนึ่งและสอง โดยปลายทั้งสองข้างลักษณะตัดเฉียงเล็กน้อย.
***************
'พุทธธัสสะ'
|