“พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์เส้นด้ายฐานแคบ” เป็นอีกพระสมเด็จตระกูล “วัดบางขุนพรหม” ที่มีพิมพ์เป็นเอกลักษณ์เนื่องจากมีข้อแตกต่างจากพิมพ์อื่น ๆ ตรง “ฐาน” หากสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่ามีความ “แคบ” (สั้น) กว่าพิมพ์อื่น ๆ เล็กน้อยนักสะสมจึงแยกแยะออกเป็น “ฐาน แคบ” แต่แม้จะเป็น “ฐานแคบ” หรือ “ฐานไม่แคบ” ก็ตาม หากมีสภาพ สวยสมบูรณ์ ไม่ชำรุด หรือ ไม่แตกไม่หัก และ ไม่บิ่นไม่ซ่อม แล้ว ราคาค่านิยมก็ต้อง “หลักล้าน” เฉกเช่นพิมพ์ “เส้นด้าย” อื่น ๆ เพราะปัจจุบันการสะสม “พระเครื่อง” รวมทั้ง “เครื่องรางของขลัง” จากทุกสำนักทุกตระกูล “นักสะสม” จะยึดถือคำว่า “สวย” และ “สมบูรณ์” เป็นหลักในการให้ราคาและองค์ไหนส่งประกวดติดรางวัล “ชนะเลิศ” จากงานประกวดที่มี “มาตรฐาน” พระองค์นั้นก็จะมีราคาสูงกว่าองค์อื่น ๆ ในตระกูลเดียวกันทันที
ด้วยเหตุนี้จึงก่อเกิด “นักปลอมแปลงพระ” ที่ไม่กลัว “บาป” ทำการ “ปลอมพระ” ออกมาขายมากมายหลาย ฝีมือ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นให้สวยสมบูรณ์เป็นหลักโดยไม่มีคำว่า “สำนึกชั่วดี” ทั้งที่ “รู้ดี” การปลอม “พระเครื่อง” และ “เครื่องรางของขลัง” เพื่อหลอกขายให้กับผู้ที่ “ไม่สันทัด” เป็นการสร้าง “ความทุกข์” ให้กับ “เพื่อนมนุษย์” และก่อให้เกิด “บาปอันมหันต์” แต่ “นักปลอมพระ” รวมทั้ง “เซียน” ที่นิยมขายของปลอมด้วย “เจตนา” เพียงเพื่อให้ ตัวเอง “ร่ำรวย” บั้นปลายของ “ชีวิต” จะมีสภาพเหมือน “ตก นรกทั้งเป็น” แต่นักปลอมพระและบรรดาเซียนเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันในวงการ “มีเยอะ” หาได้นำพาไม่ เพราะพวกนี้ยึดคติ “ไม่รู้จักบาป” ฉะนั้นหากจะบูชาพระเครื่องหรือเครื่องรางของขลังก็ต้องเช่าบูชากับผู้ที่เรา “เชื่อถือได้” ดีที่สุด
ส่วนจุดสังเกต “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์เส้นด้ายฐานแคบ” มีรายละเอียดเป็นข้อ ๆ ดังนี้
๑. ขอบข้างทั้งสี่ด้าน มีลักษณะเป็นเส้นนูนเรียวบางคล้าย “เนื้อปลิ้น” เฉกเช่นพระสมเด็จวัดระฆัง
๒. “เส้นซุ้มครอบแก้ว” เป็นเส้นเล็กบางตื้นส่วน “พระเกศ” (ผม) มีลักษณะเป็นเส้นตรงเรียวบางยาวไปจรดเส้นซุ้ม
๓. “พระพักตร์” (หน้า) ลักษณะคล้ายผลมะตูมเฉกเช่นพระสมเด็จทั่วไป
๔. “พระอุระ-ลำพระองค์” (อก-ลำตัว) ลักษณะคล้ายตัววีในภาษาอังกฤษและยาวชะลูดแต่ไม่นูนเด่น ส่วน “บั้นพระองค์” (เอว) กลืนหายไปกับพื้นผิวองค์พระ
๕. “พระกร” (แขน) ทั้งสองข้างเป็นเส้นเล็กเรียว บางคล้ายเส้นด้ายกางออกเล็กน้อยและ “พระกัจฉะ” (รักแร้) ด้านซ้ายสูงกว่าด้านขวา ส่วน “พระเพลา” (ตัก) เป็นเส้นเล็กเรียวบางและ “พระชานุ” (เข่า) ด้านซ้ายมีเนื้อนูนสูงอย่างเห็นได้ชัด
๖. “ฐาน” ฐานชั้นบนสุดเป็นเส้นเล็กเรียวบางและสั้น (แคบ) วิ่งขนานกับพระเพลา (ที่มาของชื่อฐานแคบ) ฐานชั้นกลางเป็นเส้นเล็กเรียวบางยาวกว่าฐานชั้นบนเล็กน้อย ฐานชั้นล่างสุดลักษณะคล้ายกับฐานคู่วิ่งขนานกัน.
'พุทธธัสสะ'
|