วันเสาร์ที่ผ่านได้ชี้จุดสังเกตของ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์ใหญ่” ที่เป็นพิมพ์ “พระกรตรงเกศตรง” (แขนตรงเกศตรง) ไปแล้วฉบับนี้จึงขอข้ามการชี้จุด “พิมพ์พระกรตรงเกศเอียง” (แขนตรงเกศเอียง) เนื่องจากการชี้จุดสังเกตของพิมพ์นี้ส่วนใหญ่แล้วจะมีลักษณะที่คล้ายกันกับ “พิมพ์พระกรตรงเกศตรง” (แขนตรงเกศตรง) โดยจุดสังเกตที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดก็จะอยู่ที่ “เกศตรง” และ “เกศเอียง” เท่านั้นฉะนั้นขอให้ท่านผู้อ่านนำพระทั้งสองพิมพ์ มาเปรียบเทียบกันดูก็จะเห็นชัดตามที่ผู้เขียนบรรยายไว้ทุกประการ
ดังนั้นวันนี้จึงขอนำ “พระสมเด็จ วัดบางขุนพรหมพิมพ์ใหญ่” ที่เป็น “พิมพ์พระกรโค้ง” (แขนโค้ง) มาทำการชี้จุดสังเกตแทนเพื่อให้ท่านผู้อ่านแยกแยะได้ว่า “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์ใหญ่พิมพ์พระกรโค้ง” นี้มีจุดสังเกตตรงไหนบ้างที่เป็นความแตกต่างออกไป ซึ่งแม้ส่วนใหญ่แล้วพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ก็มีส่วนปลีกย่อยที่สามารถแยกแยะออกได้ดังนี้
๑. “เส้นขอบองค์พระ” ทั้งสี่ด้าน ซ้าย-ขวา-บน-ล่าง เฉพาะองค์ที่พิมพ์ติดชัดและไม่ผ่านการสัมผัสมาก จะสังเกตเห็นเป็นเส้นนูนเรียวเล็กเช่นกันกับ “พระสมเด็จวัดระฆัง” เนื่องจากการสร้าง “แม่พิมพ์” นายช่างได้นำ “พระสมเด็จวัดระฆัง” มาเป็น “แม่แบบ” นั่นเอง
๒. “เส้นซุ้ม” ลักษณะก็เป็นแบบ “หวายผ่าซีก” ที่กลมใหญ่โดยเส้นโค้ง ด้านขวาองค์พระ จะมีความชันกว่า ด้าน ซ้ายส่วน “พระเกศ” (ผม) จะมีทั้งที่เป็น “เกศตรง” และ “เกศเอียง” ส่วนปลายจะเรียวเล็กจดเส้นซุ้มเช่นพิมพ์อื่น ๆ
๓. “พระพักตร์ (หน้า) ลักษณะคล้ายผลมะตูมโดยไม่ปรากฏ “พระกรรณ” (หู) ส่วน “พระกัจจะ” (รักแร้) ด้านซ้ายจะสูงกว่าด้านขวาเล็กน้อยและ
๔. “พระกร” (แขน) ทั้งสองข้างมีลักษณะกลมเล็กและทิ้งดิ่งลงมาประสานกันเป็นรูป “ตัวยู” ที่สังเกตได้ว่ามีลักษณะเป็น “เส้นโค้ง” ทั้งสองข้างโดย “พระกรขวา” (แขนขวา) จะกางออกมากกว่าด้านซ้ายจึงเป็นที่มาของการเรียก ว่า “พิมพ์พระกรโค้ง” (แขนโค้ง)
๕. “พระอุระ” (อก) กว้างนูนเด่น รับกับ “พระอุทร” (ท้อง) ที่เรียวเล็กลง ได้อย่างสวยงามทำ ให้มีลักษณะคล้ายกับ “ตัววี” ที่ทอดลงไปจดกับวงพระกรที่เป็นรูป “ตัวยู”
๖. “พระเพลา” (ตัก) นูนยาวประทับนั่งสมาธิราบ และปรากฏ “เส้นชายจีวร” ที่พาดจาก “พระกัปปะระซ้าย” (ศอกซ้าย) ทอดลงไปยังพระเพลาซ้าย อันเป็นที่มาของชื่อ “พิมพ์ใหญ่” เช่นกันกับ “พระสมเด็จวัดระฆัง”
๗. ฐานมี ๓ ชั้น และแต่ละชั้นจะยาวกว่าพระเพลาเล็กน้อย โดย “ฐานชั้นแรก” ลักษณะเป็นแท่งหนาใหญ่และปลายทั้งสองข้างตัดเฉียงลง แต่ไม่จดเส้นซุ้มและยาวกว่าฐานชั้นที่สองส่วน “ฐานชั้นที่สอง” จะเล็กลงและสั้นกว่าฐานชั้นแรกส่วนปลายทั้งสองข้างมีลักษณะแบบฐานสิงห์ “ฐานชั้นที่สาม” เล็กลงและสั้นกว่าฐานชั้นที่สองลักษณะเป็นเส้นตรงที่ยาวขนานกันกับ “พระเพลา” (ตัก).
|