สำหรับ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์ฐานแซม” นี้กูรูวงการพระเครื่องมีการแบ่งแยก “แม่พิมพ์” ออกเป็น “๓ แม่พิมพ์” คือ “พิมพ์พระอุระตัน-พระพักตร์ใหญ่” (อกตัน-หน้าใหญ่) และ “พิมพ์พระอุระตัน-พระพักตร์เล็ก” (อกตัน-หน้าเล็ก) พร้อม “พิมพ์พระอุระร่อง” (อกร่อง) ซึ่งในพิมพ์ “พระอุระตัน-หน้าใหญ่” (อกตัน-หน้าใหญ่) นั้นก็ได้ทำการชี้จุดสังเกตไปแล้วดังนั้นวันนี้จึงหันมาชี้จุดสังเกต “พิมพ์พระอุระตัน-พระพักตร์เล็ก” (อกตัน-หน้าเล็ก) เป็นลำดับต่อไป
แต่เนื่องจาก “พิมพ์พระอุระตัน-พระพักตร์ใหญ่” (อกตัน-หน้าใหญ่) กับ “พิมพ์พระอุระตัน-พระพักตร์เล็ก” (อกตัน-หน้าเล็ก) ลักษณะของพิมพ์โดยรวมแล้วมีความ “เหมือนกัน” ทุกประการจะมีแตกต่างกันก็เพียงตรง “พระพักตร์” (หน้า) เท่านั้นคือ “พิมพ์พระอุระตัน-พระพักตร์ใหญ่” (อกตัน-หน้าใหญ่) ในส่วนของ “พระพักตร์” (หน้า) ที่มีลักษณะคล้ายผลมะตูมจะมีลักษณะที่ “ใหญ่กว่า” ของ “พิมพ์พระอุระตัน-พระพักตร์เล็ก (อกตัน-หน้าเล็ก) เท่านั้นผู้เขียนจึงขอ “ข้าม” การชี้จุดสังเกต “พิมพ์พระอุระตัน-พระพักตร์เล็ก” (อกตัน-หน้าเล็ก) เนื่องจากยังมีพิมพ์อื่น ๆ อีกหลายพิมพ์ ที่จะทยอยชี้จุดสังเกตให้ทราบกันดังนั้นฉบับนี้จึงขอข้ามมาชี้จุดสังเกตของ “พิมพ์พระอุระร่อง” (อกร่อง) เพราะยังมีจุดสังเกตที่แตกต่างจากทั้งสองพิมพ์ดังกล่าวข้างต้นอยู่บ้างคือ
๑. “เส้นขอบข้าง” มีลักษณะเฉกเช่น “พระสมเด็จรูปทรงชิ้นฟัก” ทั้งของ “วัดระฆัง” และ “วัดบางขุนพรม” ทุกประการคือในองค์ที่ติดชัดจะปรากฏ “เส้นนูน” เรียวยาวบนขอบข้างทั้งสี่ด้านอีกทั้ง “เส้นซุ้มครอบแก้ว” ก็เป็นแบบ “หวายผ่าซีก” ที่ส่วนใหญ่จะตั้งตรงไม่เอนเอียงไปข้างหนึ่งข้างใดมากนัก
๒.“พระเกศ” (ผม) มีลักษณะเป็นเส้นตรงเช่นกันและปลาย “พระเกศ” (ผม) วิ่งขึ้นไปจรดเส้นซุ้มส่วน “พระพักตร์” (หน้า) คล้ายกับผลมะตูมที่ยาวรีเล็กน้อยจึงทำให้ในส่วนของ “พระหนุ” (คาง) ค่อนข้างแหลมส่วน “พระกรรณ” (หู) ลักษณะยาวลงไปจรด “พระอังสา” (ไหล่) ที่ด้านซ้ายจะยาวกว่าและชิดกับ “พระพักตร์” (หน้า) มากกว่าด้านขวา
๓. “พระอุระ” (อก) ลักษณะเป็น “สองเส้น” วิ่งคู่ขนานกันตั้งแต่ “พระอุระ” (อก) ลงไปยัง “พระอุทร” (ท้อง) จึงทำให้ “พระอุระ” (อก) ปรากฏเป็น “ร่อง” ระหว่างกลางจึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ “อกร่อง” นั่นเอง
๔. “พระกร” (แขน) ทั้งสองข้างทิ้งดิ่งลงไปและกาง “พระกัปปะระ” (ศอก) เล็กน้อยก่อนหักเป็นมุมฉากโดย “ฝ่าพระหัตถ์” (ฝ่ามือ) ประสานกันบน “พระเพลา” (ตัก) โดย “ซอกพระกัจฉะ” (รักแร้) ด้านขวาจะใหญ่กว่าด้านซ้ายส่วน “พระเพลา” (ตัก) เป็นเส้นนูนคล้ายก้านไม้ขีดในลักษณะนั่งสมาธิราบ ที่เว้าตรงกลางเล็กน้อยในลักษณะ “ฝ่าพระบาท” (ฝ่าเท้า) วางซ้อนทับกัน
๕. “ฐาน” มีสามชั้นโดยฐานชั้นบนสุดเป็นเส้นตรงวิ่งขนานกับ “พระเพลา” (ตัก) ส่วนฐานชั้นที่สองลักษณะคล้ายฐานชั้นบนแต่ยาวกว่าเล็กน้อย และฐานชั้นล่างสุดเป็นแท่งหนาที่มีร่องตื้น ๆ ปลายตัดเฉียง และระหว่างกลางของ “พระเพลา” (ตัก) กับ “ฐานชั้นบน” พร้อม “ฐานชั้นกลาง” และ “ฐานชั้นล่าง” จะปรากฏมีเส้นแซมเฉกเช่น “พิมพ์ฐานแซม” อื่น ๆ.
'พุทธธัสสะ'
|