ผ่านไปการชี้จุดสังเกต “พระเบญจภาคี” ประเภทเนื้อผงและเนื้อดินทั้ง “พระสมเด็จวัดระฆัง, พระนางพญา, พระซุ้มกอ, พระรอด, พระผงสุพรรณ” ที่วงการนักสะสมจัดเป็น “สุดยอด” ของพระเครื่องไทยวันนี้จึงขอนำ “พระสมเด็จ” ที่ “สมเด็จพระพุฒา จารย์โต พรหมรังสี” มีเมตตาเป็นประธานสร้างและ “ปลุกเสก” อีกตระกูลซึ่งก็คือ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” มาชี้จุดสังเกตเพราะวงการนักสะสมจัดเป็น “พระสมเด็จ” ที่สร้างด้วยเนื้อ “ผงขาว” รูปทรง “ชิ้นฟัก” ที่ได้รับความนิยมรองลงมาจาก “พระสมเด็จวัดระฆัง”
แต่ก่อนจะชี้จุดสังเกตขออธิบายความเป็นมาของ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” เพียงย่นย่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ โดย “เสมียนตราด้วง” ซึ่งเป็นต้นตระกูล “ธนโกเศส” ในโอกาสบูรณะพร้อมสร้าง “เจดีย์” ไว้ที่ “วัดบางขุนพรหม” ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “วัดบางขุนพรหมใน” แต่ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดใหม่อมตรส” โดยการสร้างครั้งนั้นได้นิมนต์ “สมเด็จพระพุฒาจารย์โต” (ซึ่งอยู่ในวัยที่ชราภาพมากแล้ว) เป็นประธานการปลุกเสกมีทั้งหมด 11 พิมพ์ คือ “พิมพ์ใหญ่, พิมพ์เส้นด้าย, พิมพ์เจดีย์, พิมพ์ฐานแซม, พิมพ์ฐานคู่, พิมพ์เกศบัวตูม, พิมพ์สังฆาฏิ, พิมพ์สังฆาฏิหูช้าง, พิมพ์อกครุฑ, พิมพ์ปรกโพธิ์, พิมพ์ไสยาสน์” ส่วนจำนวนการสร้างที่บันทึกไว้คือ ๘๔,๐๐๐ องค์ เท่าจำนวน “พระธรรมขันธ์” แล้วนำบรรจุกรุไว้ใน “เจดีย์องค์ใหญ่” เพื่อเป็นการสืบทอด “พระพุทธศาสนา”
แต่หลังจากการบรรจุ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” ไว้ในเจดีย์ได้ไม่นานความนิยมสะสม “พระเครื่อง” ของชาวไทยก็เริ่มขยายวงกว้างขวางขึ้นจึงมีการเสาะหา “พระเครื่อง” เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนรวมทั้งซื้อขายกัน ดังนั้นประมาณปี พ.ศ. ๒๔๒๕ จึงมีนักเสาะหาพระเครื่องไปทำการขโมย “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” ที่ถูกบรรจุไว้ในเจดีย์โดยใช้วิธี “ตกเบ็ด” คือใช้ดินเหนียวผูกติดกับปลายเชือกเบ็ด แล้วหย่อนลงไปในเจดีย์ทางด้านช่องระบายอากาศ จากนั้นค่อย ๆ ลากเชือกเบ็ดไปมา จนแน่ใจว่าพระที่อยู่ในเจดีย์ติดดินเหนียวแล้วจึงดึงเชือกเบ็ดขึ้น ซึ่งคาดกันว่าการขโมยพระด้วยวิธีนี้ ในช่วงนั้นได้พระสมเด็จที่ขึ้นจากกรุ “นับพันองค์” ดังนั้นพระที่ถูกนำขึ้นจากกรุด้วยวิธีตกเบ็ดนี้จึงเรียกกันว่า “พระกรุเก่า” เนื่องจากสภาพพระยังไม่มี “คราบกรุ” รวมทั้ง “ฟองอากาศ” ให้เห็น
ต่อมาเมื่อทางวัดทราบว่ามีการลักลอบ “ขโมยพระ” ที่บรรจุไว้ในเจดีย์ด้วยวิธี “ตกเบ็ด” จึงทำการป้องกันด้วยวิธี “ปิดช่องระบายอากาศ” ทั้งหมดเลยทำให้การขโมยพระด้วยวิธีตกเบ็ดนี้สิ้นสุดลง กระทั่งกาลเวลาผ่านไปถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ ทางวัดจึงทราบว่ามี “ขโมย” ได้ลักลอบขุดเจาะฐานเจดีย์เป็นโพรงแล้วมุดเข้าไป ทำการขนพระออกมา เมื่อทราบเช่นนี้คณะกรรมการวัดจึงมีมติให้ “เปิดกรุ” อย่างเป็นทางการแล้วนำพระทั้งหมดขึ้นจากกรุ เพราะหากไม่นำออกมาแล้ว “สมบัติของวัด” มีหวังถูกขโมยขนไปหมดสิ้นแน่ ดังนั้นจึงมีการเปิดกรุอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ปรากฏว่าได้ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” ที่สภาพสมบูรณ์ประมาณ ๒,๕๙๐ องค์ เท่านั้นเพราะที่เหลือล้วนแต่ “แตกหัก” ทับถมกันนับหมื่นชิ้นเลยทีเดียว
อีกทั้ง “พระสมเด็จ” ที่เปิดกรุอย่างเป็นทางการครั้งนี้ล้วนแต่เป็นพระที่มี “คราบกรุ” และ “คราบฟองเต้าหู้” ห่อหุ้มองค์พระไว้มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ด้วยเหตุนี้นักสะสมจึงเรียกว่า “พระกรุใหม่”
อธิบายมายืดยาวก็เพื่อให้นักสะสม “รุ่นใหม่” ได้ทราบความเป็นมาของการเรียกชื่อ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” ทั้ง “กรุเก่า” และ “กรุใหม่” ว่ามีที่มาที่ไปเช่นไรเนื่องจากชั่วโมงนี้ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” ที่สภาพ “สมบูรณ์” ไม่แตกไม่หักราคาค่านิยมก็ต้องใช้ “เงินล้าน” ถึง “หลาย ๆ ล้าน” แลกเปลี่ยนจึงมีสิทธิได้เป็นเจ้าของเพราะราคาจะเป็นรองก็เพียง “พระสมเด็จวัดระฆัง” เท่านั้น
ส่วนการชี้จุดสังเกตในแต่ละพิมพ์จึงขอ “ยกยอด” ไปวันเสาร์หน้าเพราะวันนี้ “เนื้อที่หมด” พอดี.
พุทธธัสสะ
|