สำหรับ “พระสมเด็จวัดเกศไชโยพิมพ์ ๖ ชั้นอกตัน” จัดเป็นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมรองลงมาจาก “พิมพ์ ๗ ชั้น” ซึ่งตามหนังสือ “พระพุทธรูปสำคัญ” ที่ กรมศิลปากร บันทึกไว้ได้ระบุว่า “การสร้างพระหลวงพ่อโตที่ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระราชทานพระนามใหม่หลังโปรดเกล้าฯ ให้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ ทำการบูรณะวัดไชโยวรวิหารพร้อมทำการสร้างหลวงพ่อโตขึ้นใหม่ หลังจากพังทลายลงว่าพระมหาพุทธพิมพ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิมีขนาดหน้าตักกว้าง ๘ วา ๖ นิ้ว หรือ ๑๖.๑๓ เมตร ส่วนความสูง ๑๑ วา ๑ ศอก ๗ นิ้ว หรือ ๒๒.๖๕ เมตร”
ซึ่งนับเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่โตมากองค์หนึ่งในสมัยนั้น ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้วัดไชโยวรวิหารจึงนิยมเรียกกันว่า “หลวงพ่อโต” และในช่วงที่ “หลวงพ่อโต” พังทลายลงเมื่อคราวที่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ ไปทำการบูรณะวัดไชโยฯ ก็ได้พบว่ามี “พระสมเด็จวัดเกศไชโยพิมพ์ ๖ ชั้นอกตัน” ถูกบรรจุไว้ภายในองค์หลวงพ่อโตที่พังทลายลงด้วย โดยจุดสังเกตของ “พิมพ์ ๖ ชั้นอกตัน” มีดังนี้
๑. “เส้นกรอบกระจก” หากสังเกตให้ดีจะพบว่าด้านขวาขององค์พระ จะสูงกว่าด้านซ้ายเล็กน้อย ส่วน “เส้นซุ้ม” ด้านบนมีลักษณะโค้งได้รูปสวยงามเหมือนพิมพ์ ๗ ชั้น
๒. “พระเกศ” (ผม) แตกต่างไปจากพิมพ์ ๗ ชั้น คือลักษณะเป็นรูปทรงกรวยเรียวเล็กจรดเส้นซุ้มขณะที่ “พระพักตร์” (หน้า) ลักษณะเป็นรูปไข่
๓. “พระกรรณ” (หู) ลักษณะคล้ายพระจันทร์เสี้ยว ที่แนบชิดกับพระพักตร์ทั้งสองข้างส่วน “เส้นพระศอ” (เส้นคอ) มีขนาดเดียวกันกับพระเกศ
๔. “พระพาหา” (แขนช่วงบนถึงข้อ ศอก) ทั้งสองข้างกางออกก่อนหักมุมตรง “พระกัปปะระ” (ศอก) เพื่อให้ “พระพาหุ” (แขนช่วงล่างถึงข้อมือ) ประสานกันในท่าประทับนั่งสมาธิราบ และช่องว่างของแขนด้านขวาองค์พระ จะกว้างกว่าด้านซ้ายอย่างเห็นได้ชัด
๕. “พระเพลา” (ตัก) ลักษณะคล้ายรูปเรือที่หากสังเกตแล้วจะพบว่า “พระชานุ” (เข่า) ด้านซ้ายองค์พระจะสูงกว่าด้านขวาเล็กน้อย
๖. “เส้นฐาน” มีทั้งหมด ๖ ชั้น และแต่ละชั้นค่อนข้างอวบส่วนปลายแหลมทั้งสองข้าง อีกทั้งช่องว่างระหว่างฐานสม่ำเสมอสวยงาม ส่วนเส้นฐานชั้นล่างสุดยาวเกือบจรดเส้นซุ้ม.
'พุทธธัสสะ'
ทีมา เดลินิวส์
|